Blog

 

OUKE แบรนด์เสื้อผ้าจากเชียงใหม่ที่หยิบใบไม้และดอกไม้มาวาดลวดลายสุดคัลเลอร์ฟูล

Highlights

  • OUKE (อุ๊ก) คือแบรนด์เสื้อผ้าจากเชียงใหม่ที่ วิไล ไพจิตรกาญจนกุล ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ลายมาจากรอยเปื้อนใบไม้บนพื้นปูนซีเมนต์
  • วิไลผสมผสานภูมิปัญญาการถนอมอาหารของคนเหนือคือการอุ๊ก (บ่มด้วยความร้อน) ใบไม้กับผ้าฝ้าย เข้ากับเทคนิคการทำเมี่ยง ที่จะทำให้ลายใบไม้ติดแน่นด้วยสีธรรมชาติของตัวเอง
  • สำหรับวิไล OUKE ถือเป็นธุรกิจที่เกิดจากความร่วมมือของคนและต้นไม้อย่างแท้จริง เธอเก็บใบไม้จากธรรมชาติที่ให้สีแตกต่างกัน นำไปอุ๊กและตัดเย็บด้วยความช่วยเหลือจากคนทอผ้าท้องถิ่น ได้กระจายรายได้ให้คนในชุมชน และวิไลหวังว่าวิธีสร้างสรรค์เสื้อผ้าของ OUKE จะกลายเป็นภูมิปัญญาในอนาคต

ใบไม้ใบหนึ่งเพิ่งผลัดจากต้น มันปลิวคว้างในอากาศชั่วครู่แล้วตกลงบนพื้น

จังหวะเดียวกันเสียงทักทายของผู้หญิงวัย 67 ปีที่เรากำลังรออยู่ก็ดังขึ้นพอดี

มุมที่นั่งนอกร้านกาแฟ TCDC Chiang Mai ติดต้นไม้ใหญ่ วิไล ไพจิตรกาญจนกุล เดินเข้ามาหาเราพร้อมชุดเสื้อผ้าที่หอบมาเต็มอ้อมแขน ประกอบไปด้วยเสื้อ กางเกง และเดรสหลายรูปแบบ จากแบรนด์ OUKE (อุ๊ก) ที่เธอเป็นเจ้าของ

จุดร่วมเดียวของเสื้อผ้าทุกตัวคือมันถูกแต่งแต้มด้วยลวดลายของใบไม้และดอกไม้นานาพรรณ

ไม่ใช่ผ้าพิมพ์อย่างที่หลายคนอาจนึกถึง แต่นี่คือเสื้อผ้าที่ใช้วิธีสร้างสรรค์ลวดลายด้วยการ ‘อุ๊ก’ หรือบ่ม วิธีการถนอมอาหารดั้งเดิมของคนเหนือ วิธีนี้เคยฮิตใช้กับมะม่วงมาแต่นานนม ก่อนที่ป้าวิไลจะหยิบมาประยุกต์ใช้กับเครื่องแต่งกาย ออกมาเป็นชุดผ้าฝ้ายลายดอกใบที่สวยสะพรั่งจนถูกใจลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ

2 ปีที่ผ่านมา OUKE เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่น่าจับตามอง เติบโตในฐานะธุรกิจสร้างสรรค์ของคนท้องถิ่น จนถูกชวนมาจัดแสดงผลงานใน Chiang Mai Design Week ปีล่าสุด และเมื่อมีโอกาสได้ไปแอ่วงานนี้ถึงเชียงใหม่ เราจึงไม่พลาดที่จะนัดคุยกับป้าวิไลถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนเส้นใยธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้ามีมูลค่า

ใต้ร่มไม้ที่มีลมภูเขาพัดแผ่วเบา ป้าวิไลค่อยๆ เล่าเรื่องแบรนด์เสื้อผ้าที่มีใบไม้เป็นแรงบันดาลใจให้เราฟัง

หยั่งราก

ย้อนกลับไปในวันที่ป้าวิไลยังเด็ก ถ้าจะเรียกเธอว่าเด็กที่โตมากับกองผ้าก็ไม่ผิด

พ่อของเด็กหญิงวิไลเป็นหนุ่มไทยเชื้อสายจีนที่มีอาชีพเป็นครูสอนทอผ้า ส่วนแม่คือหญิงงามจากอำเภอพร้าวเจ้าของชื่อ ‘บัวผัด’ ที่พ่อนำมาตั้งเป็นชื่อร้านเสื้อผ้าและของที่ระลึกของครอบครัวหลังแต่งงานกัน

“ร้านชื่อบัวผัดเพราะว่าอั๊วฮักลื้อ” ป้าวิไลเล่าความหลังให้ฟัง ก่อนจะเสริมว่าความชอบในเรื่องผ้าของแกนั้นไม่ได้ถูกส่งต่อจากผู้เป็นพ่ออย่างที่เราคิด หากแต่เป็นสมาชิกในบ้านอีกคน คือคุณยายผู้เป็นโรคอัมพฤกษ์ที่มักจะเรียกเด็กหญิงวิไลให้ไปหาบ่อยๆ

“คุณยายท่านลุกจากเตียงไม่ได้ ก็ชอบเรียกเราไปหาแล้วบอกให้หาเศษผ้ามา แล้วท่านก็สอนเย็บผ้าด้วยมือ เย็บเบี้ยวไปเบี้ยวมาจนกลายเป็นถุงใส่เหรียญ พอเย็บเสร็จท่านก็ให้เราเอาไปขายหน้าร้าน เราก็สงสัยว่าจะขายได้ไหม

“วันต่อมาเรากลับมาจากโรงเรียน ปรากฏว่ามันถูกซื้อไปโดยลูกค้าต่างชาติที่ชอบงานฝีมือ ตอนนั้นเราคิดได้เลยว่า โอ้ เศษผ้านี่มันมีคุณค่า ก็เลยชอบและสนใจเรื่องผ้ามาตั้งแต่นั้น”

เมื่อเข้าสู่ช่วง ม.ปลาย วิไลเลือกเรียนสายวิทย์ที่ทำให้เธอเข้าใจเรื่องชีววิทยา ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย เธอสอบติดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่พอเรียนจบแล้วก็แน่ใจว่าอยากมาสืบสานกิจการของครอบครัวต่อมากกว่าเป็นครู เธอจึงสมัครเรียนวิชาชีพที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ต่อ

ตอนนั้นเองที่ป้าวิไลพบกับอาจารย์แสงดา บัณสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสีธรรมชาติให้เธอ หลายครั้งที่ป้าวิไลตามติดอาจารย์แสงดาไปเก็บวัตถุดิบจากธรรมชาติมาทำสีย้อมผ้า

ณ ขณะนั้น ป้าวิไลไม่รู้เลยว่าความรู้ทั้งหมดที่สั่งสมมาตั้งแต่เล็กจนโตจะถูกดึงมาใช้กับแบรนด์ชื่อ OUKE

ตั้งต้น

พนันได้เลย ไม่มีใครเดาถูกแน่นอนว่า OUKE ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร

ไม่ใช่สีย้อมผ้า ไม่ใช่กระเป๋าใส่เหรียญ และไม่ใช่งานฝีมือชิ้นไหน

จุดเริ่มต้นของ OUKE เกิดขึ้นในหน้าฝนปี 2560 ตอนนั้นป้าวิไลรับช่วงต่อร้านขายเสื้อผ้าและของที่ระลึก ‘บัวผัด’ และโรงงานผลิตสินค้า ‘บัวผัดแฟคทอรี่’ จากพ่อแม่ได้หลายสิบปี วันหนึ่งระหว่างการผลิตสินค้าที่โรงงานผู้จัดการคนสนิทก็ชี้ให้ป้าวิไลมองรอยใบไม้บนพื้นซีเมนต์

“ปีนั้นฝนตกหนักมาก ใบไม้ผลัดใบจากต้นลงมาเน่าบนพื้นซีเมนต์ ผู้จัดการโรงงานเขาเห็นก็ชี้ให้เราดู” ใครหลายคนอาจจะไม่ติดใจรอยเปื้อนบนพื้น แต่ไม่ใช่กับป้าวิไล “ป้าเห็นแล้ว โอ๊ะ ขนาดบนพื้นซีเมนต์มันยังออกสี อย่างนี้บนผ้ามันก็ต้องมีสีได้สิ”

ใช่ คราบใบไม้บนพื้นซีเมนต์คือแรงบันดาลใจให้เธอสร้าง OUKE

ทันทีทันใด ป้าวิไลนึกเชื่อมโยงไปถึงภาพคุ้นตาตอนอยู่กับยายเมื่อยังเป็นเด็ก บ่อยครั้งที่แกเห็นหญิงชราเคี้ยว ‘เมี่ยง’ (ใบชาป่าที่คนเหนือนิยมเคี้ยว มีคาเฟอีน คล้ายหมากของคนภาคกลาง) แล้วเศษของเมี่ยงตกลงบนเสื้อ

สีเขียวของเมี่ยงถ้าติดเสื้อแล้วจะติดทน ยากจะซัก–เธอจำคำของยายได้ทันที

ความจริง 65 ควรจะเป็นเลขอายุที่เลิกทำงานแล้วอยู่บ้านพักผ่อน แต่เมื่อมองเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างสิ่งใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทำมาก่อน ป้าวิไลจึงกระโดดลงไปทำ เธอนึกไปถึงวิธีการทำเมี่ยงดั้งเดิม แล้วนำมายำกับความรู้เรื่องสีธรรมชาติที่สั่งสม

สุดท้ายเธอคิดถึงการอุ๊กหรือบ่มที่น่าจะเป็นหัวใจสำคัญของสิ่งนี้

จากเคยเป็นวิธีถนอมอาหารดั้งเดิมของคนเหนือ ป้าวิไลมองมันใหม่ในฐานะวิธีสร้างลวดลายบนผืนผ้า

“อุ๊กแปลว่าบ่มด้วยความร้อน คนเหนือชอบใช้การอุ๊กกับมะม่วง คือบ่มทิ้งไว้ 2-3 วันแล้วเนื้อมะม่วงจะสุกอร่อย เราเลยอยากหยิบการอุ๊กมาประยุกต์ใช้กับผ้าเพราะคิดว่ามันจะทำให้สีติดทน” เธอเล่าคอนเซปต์ แล้วไล่เรียงวิธีทำแบบเข้าใจง่ายให้ฟัง

“ขั้นตอนแรกคือการเก็บใบไม้มาหมัก แช่ทิ้งไว้ในน้ำ 2-3 คืนแล้วนำมาแปะบนผ้าฝ้ายสีขาว ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบคือผ้าผืนยาว 10 เมตร และผ้าที่ตัดเป็นชุดมาแล้ว จากนั้นม้วนหรือพับให้แน่น เสร็จแล้วนำไปใส่เครื่องนึ่งหรือหม้อต้มทิ้งไว้ 1-2 คืน โดยรวมแล้วล็อตหนึ่งใช้เวลาประมาณ 4-5 คืน

“ขั้นตอนที่สนุกที่สุดอยู่ที่การลอกใบไม้ออกมา เพราะตอนติดเราไม่รู้ว่าตอนดึงออกมาแล้วจะเป็นยังไง สวยไหม เพราะทุกส่วนของผ้านั้นมีตำแหน่งการวางใบต่างกันโดยสิ้นเชิง”

“เพราะฉะนั้นทุกชุดของป้าจะเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่น หมายถึงมีลายนั้นแค่ชิ้นเดียวในโลกใช่ไหม” เราตั้งข้อสันนิษฐาน แล้วป้าวิไลก็พยักหน้ายืนยัน

ฟังจากที่เธอพูด ดูเหมือนป้าวิไลจะเข้าใจกระบวนการทุกอย่างเป็นอย่างดี ไม่ใช่เพราะเธออยู่กับผ้ามาหลายสิบปี แต่การได้วิธีการที่ถูกต้องและให้เนื้องานที่น่าพอใจเช่นนี้ก็ผ่านการลองผิดลองถูกมาไม่น้อยเหมือนกัน

“ป้าไม่ได้เรียนออกแบบ ดังนั้นเราจะ think outside the box ไม่มีขีดจำกัดอยู่แล้ว ทำไปเรื่อย ก็ลองมันทุกอย่าง ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปเด็ดมาแล้วมาแปะ มันเกิดจากประสบการณ์ที่เราเรียนรู้ เหมือนกับทำวิจัย ทุกครั้งที่ทำเราก็ถ่ายรูปก่อน-หลังไว้ ป้าจะจดไว้หมด”

ด้วยเพราะเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ จึงมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อสีและลวดลาย ทั้งเวลาที่ไปเก็บใบไม้ ฤดูกาล หรือสารพิเศษที่ใช้ประกอบการหมักใบไม้ที่สามารถควบคุมความเข้ม-อ่อนของสี แม้กระทั่งวิธีการนึ่งหรือต้มก็ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง ถ้าต้มผ้าที่ได้จะมีลายที่เลือนๆ สีเปรอะๆ แต่หากอยากได้ความสดและความชัดของลายต้องใช้วิธีการนึ่ง นั่นคือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ตลอด 2 ปีแห่งการทดลอง

ผลิใบ

เมื่อนึกถึงเสื้อผ้า หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า season ที่หมายถึงช่วงเวลาการออกคอลเลกชั่นของแบรนด์

OUKE ก็มีคำว่าซีซั่นเหมือนกัน แต่ซีซั่นที่ว่านี้หมายถึงฤดูกาลที่ใบไม้จะผลิใบ

ปกติแล้วต้นไม้แต่ละต้นมีเวลาที่ใบจะออกสีสวยที่สุด ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามแต่ละฤดูกาล อย่างฤดูฝนที่ต้นไม้ได้กินน้ำมาก ใบของต้นไม้ส่วนใหญ่จะให้สีสันสวยงามอยู่แล้ว

ใบไม้โปรดของป้าวิไลในช่วงหน้าฝนคือใบกาสะลอง ใบเพกา และใบสัก ช่วงหน้าร้อนใบลำไยจะให้สีสวย ส่วนช่วงหน้าหนาวเป็นฤดูที่ใบไม้ผลัดโรย แต่มีดอกไม้ชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายดอกเดซี่ที่ป้าวิไลตั้งชื่อให้มันว่า ‘บัวไล’ ออกดอกสีขาวสะพรั่ง นั่นคือครั้งแรกที่เธอขยายจักรวาลการอุ๊กไปสู่ดอกไม้

ในเมื่อทุกใบมันก็เป็นสีเขียวเหมือนกันเกือบหมด แล้วใบไม้จะสร้างสีที่ต่างกันได้ยังไง นี่คือสิ่งที่เราอยากรู้

“แม้จะมองด้วยสายตาว่าทุกใบมีสีเขียว หากแต่ละใบนั้นจะมี ‘สีด้านใน’ ที่แตกต่างกัน อย่างใบสักจะให้สีม่วงอมชมพู ใบเพกาให้สีเหลือง สีใบจะสดแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความชื้นและสารที่ใช้ในการหมัก” ป้าวิไลอธิบาย

“ใบแบบไหนถือว่าสมบูรณ์สำหรับคุณป้า” เราโยนคำถามต่อ

เธอส่ายหัวแทนคำตอบ

“ป้ามองสิ่งนี้เป็นศิลปะนะ ศิลปะมันไม่มีผิดไม่มีถูก ส่วนตัวป้าจะชอบใบไม้ที่มีรูเหมือนโดนแมงกัด เพราะรู้สึกว่าใบแบบนี้เป็นธรรมชาติดี แต่ใบที่ไม่มีรูและสมบูรณ์ก็สวยเหมือนกัน” ป้าวิไลพูดยิ้มๆ

ออกดอกออกผล

ในวันนี้ OUKE ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าคนไทยและต่างชาติจนต้องส่งออกไปขายต่างประเทศ

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากที่เคยทำแค่กับผ้าฝ้ายสีขาวบริสุทธิ์ ปีนี้แบรนด์ขยายขอบเขตไปสู่การทำเสื้อผ้าในเฉดสีอื่นโดยประยุกต์ใช้สีเคมีกับสีดอกและใบจากธรรมชาติ มีการทดลองทำเสื้อผ้ารูปทรงใหม่ๆ อย่างเสื้อคอวีที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสื้อกะเหรี่ยง ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนการใส่โดยใช้เทคนิคการผูกผ้าแบบโอบิของญี่ปุ่นได้ด้วย รวมไปถึงการทำนาโนเทคโนโลยีให้เสื้อผ้าสามารถกันแสงยูวีและผ่านกรรมวิธีปรับผ้านุ่ม

ป้าวิไลยังเผยสถิติสูงสุดให้เราฟังว่า เคยมีวันหนึ่งที่สามารถอุ๊กดอกกับใบบนผ้าได้ยาวถึง 50 เมตร (10 เมตรสามารถตัดเสื้อได้ 5 ตัว หรือเดรสราว 3-4 ชุด)

แน่นอนว่าพัฒนาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากป้าวิไลเพียงคนเดียว ในทุกวันที่ลงมือทำเธอต้องมีทีมช่วยทำอย่างน้อย 3 คน ความดีงามคือพวกเขาเป็นช่างทอผ้าชาวยองในชุมชนที่เคยเย็บผ้าไม่เป็น แต่ป้าวิไลได้ถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดที่ตัวเองมีให้พวกเขาจนเชี่ยวชาญ เป็นการสร้างงานให้คนท้องถิ่นไปในตัว

“สุดท้ายป้าก็ได้ใช้สกิลการเป็นครูมาสอน เหมือนได้ใช้สิ่งที่เรียนมาให้เป็นประโยชน์ในที่สุด” ป้าวิไลยืนยัน

แม้วันนี้จะประสบความสำเร็จเกินกว่าหวัง แต่ป้าวิไลก็บอกเราว่า เธอยังมีสิ่งที่อยากทำเพื่อต่อยอดแบรนด์ของเธออีกมากมาย

“การสร้างแบรนด์นี้ตอบโจทย์ชีวิตป้า นั่นคือการได้เอาธรรมชาติมาใช้สร้างอาชีพ เราเติบโตมากับเศษผ้าทำให้อยากนำสิ่งรอบตัวมาสร้างให้เกิดประโยชน์ ให้เกิดสินค้า มูลค่า มันเป็นเหมือนทรัพย์ในดิน

“ป้าอายุ 67 แล้ว ไม่นานก็ต้องจากโลกนี้ไป มันเป็นธรรมดาของมนุษย์ เราก็อยากเขียนตำราถ่ายทอดไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้ความรู้ เราทำงานยังไง เรามีความรู้อะไรบ้าง นี่คือสิ่งสุดท้ายที่อยากทำก่อนตาย ความรู้พวกนี้มันจะได้ไม่หายไป

“สิ่งนี้ไม่ใช่ศิลปะภูมิปัญญาแต่ดั้งเดิมนะ แต่ในอนาคตมันก็จะกลายเป็นภูมิปัญญา”


ติดตามแบรนด์ OUKE ได้ที่ และเพจเฟซบุ๊ก  Ouke เสื้อ ชุดสตรี ผ้าพันคอ พิมพ์ด้วยใบไม้เชียงใหม่

เครดิตบทความ เรื่อง พัฒนา ค้าขาย จาก https://adaymagazine.com